วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หน่วยที่ 2 การรวบรวมข้อมูล

การรวบรวมข้อมูล

การรวบรวมข้อมูล เป็นการนำข้อมูลที่ต้องการจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้มารวมไว้ เพื่อใช้การจัดทำเป็นข้ออ้างอิง หรือ รายงานต่าง ๆ การเก็บรวบรวมข้อมูลทำได้หลายวิธี เช่น

1.การสอบถาม คือสอบถามจากผู้รู้หรือผู้ที่เราต้องการทราบข้อมูลโดยตรง เช่น นักเรียนที่อยู่ชั้น ป.4 ชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหน ก็ถามจากนักเรียนคนนั้นแล้วจดบันทึกไว้ การสอบถามไม่จำเป็นต้องสอบถามทุกคน อาจถามเพียงชั้นเรียนละ 5-6 คน โดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อนซึ่งเรียกว่า การสุ่มข้อมูล





2. การจดบันทึก คือบันทึกเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่สนใจซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละวันไว้ หรือบันทึกผลการทดลองต่าง ๆ เช่นบันทึกเรื่องการงอกของเมล็ดพืช ก็นำเมล็ดพืชหลายชนิดมาเพาะตามขั้นตอนของการเพาะเมล็ด จากนั้นก็เริ่มจดบันทึกวันเดือนปีที่เริ่มเพาะ ตลอดจนลักษณะดินที่ใช้ การรดน้ำ สังเกตว่าหลังจากเพาะแล้วอีกกี่วันจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเมล็ดพืช และเปลี่ยนแปลงอย่างไร ใช้เวลากี่วันจึงจะมีลำต้นที่สมบูรณ์ และวัดความยาวของลำต้นในแต่ละวันโดยเปรียบเทียบกับต้นอื่น ๆ ที่เพาะเวลาเดียวกัน

3.การสำรวจ เช่น สำรวจว่าในโรงเรียนของเรามีห้องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ห้องเรียนประจำชั้นอยู่กี่ห้อง อยู่ที่ไหน แต่ละห้องใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อต้องการใช้งานก็สามารถไปที่ห้องนั้นได้ทันที

4.รวบรวมจากข้อมูลที่ผู้อื่นรวบรวมไว้แล้ว เช่น สถิติการมาเรียนของนักเรียนในโรงเรียนน สถิติจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด สถิติการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้มีการพิมพ์เผยแพร่ไว้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ทันที

การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ต้องเลือกจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่นแหล่งข้อมูลนั้นมีตัวตน สามารถอ้างอิงสถานที่ติดต่อได้ แหล่งข้อมูลมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ถ้าเป็นหนังสือหรือวารสารที่ใช้อ้างอิงได้ ต้องมีรหัสประจำหนังสือ เช่น ISBN 974-7188-14-7

การประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ
ข้อมูลทีอยู่รอบ ๆ ตัวเรามีจำนวนมาก จึงต้องมีการประมวลผลเพื่อให้เกิดประโยชน์ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การแยกแยะ การตรวจสอบความถูกต้อง การคำนวณ การจัดลำดับ การรายงานผล รวมถึงการสื่อสารข้อมุลหรือการแจกจ่ายข้อมูล
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับการประมวลผลให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อนำมาเผยแพร่และใช้งานในด้านต่าง ๆ ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การผลิต การบริการ การบริหาร การแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม การทหาร และอื่นๆ
ลักษณะที่สำคัญของสารสนเทศ ได้แก่
1. เป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว
2. มีรูปแบบที่มีประโยชน์สามารถนำไปใช้งานได้
3. มีคุณค่าสำหรับใช้ในการดำเนินงานหรือตัดสินใจ
วิธีการประมวลผลข้อมูล
เราสามารถประมวลผลข้อมูลได้หลายวิธี แต่ในหน่วยนี้จะกล่าวถึงวิธีการประมวลผลข้อมูลขั้นพื้นฐาน ดังนี้
1. การเรียงลำดับ (Sort) เช่น การนำรายชื่อนักเรียนมาเรียงลำดับตามเลขประจำตัวหรือตามพยัญชนะตัวแรกของชื่อ
2. การหาค่าเฉลี่ย (Average) เช่น การนำคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้งห้องมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนนักเรียนทั้งห้อง ตัวเลขที่ได้เป็นค่าเฉลี่ยคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนห้องนี้
3. การเปรียบเทียบ (Compare) เช่น การนำคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนห้อง 1 มาเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนห้อง 2 เป็นต้น